กฤษณา



กฤษณา

ชื่อพื้นเมือง : กฤษณา (ภาคตะวันออก)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aquilaria crassna Pierre ex Lec.

ชื่อวงศ์ : THYMELAEACEAE

ชื่อสามัญ : Eagle Wood


ลักษณะของกฤษณา


1.ต้นกฤษณา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 18-30 เมตร วัดขนาดรอบลำต้นได้ความยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มเจดีย์ต่ำ ๆ หรือเป็นรูปกรวย ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นเรียบมีสีเทาอมขาว เปลือกมีความหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร เมื่ออายุมาก ๆ เปลือกนอกจะแตกเป็นร่องยาวตื้น ๆ ส่วนเปลือกด้านในจะมีสีขาวอมเหลือง ต้นมีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนอยู่ทั่วไป ตามกิ่งอ่อนจะมีขนสีขาวปกคลุมอยู่ มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก ต้นกฤษณาชอบขึ้นในที่ชุ่มชื้น จึงมักพบได้ทั่วไปตามป่าดงดิบทั้งชื้นและแล้ง หรือที่ราบใกล้กับแม่น้ำลำธาร โดยธรรมชาติต้นกฤษณาจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สำหรับการปลูกกฤษณาและการขยายพันธุ์ที่นิยมทำในปัจจุบันคือการขุดกล้าไม้จากบริเวณต้นแม่มาปลูกในเรือนเพาะชำ จนกล้าไม้มีอายุได้ 1 ปีจึงค่อยย้ายไปปลูกในแปลง ส่วนวิธีอื่น ๆ นอกจากนี้ก็คือ การตอนกิ่งและการปักชำ
รูปกฤษณารูปต้นกฤษณา


2.ไม้กฤษณา
 ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งแบบเนื้อไม้ปกติและแบบเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา โดยเนื้อไม้ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ ๆ และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้เป็นเสี้ยนตรง หยาบปานกลาง เลื่อยได้ง่าย ขัดเงาได้ไม่ดี ไม่ค่อยทนทานนัก เมื่อนำมาแปรรูปเสร็จก็ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันจะมีสีดำ หนักและจมน้ำได้ ซึ่งคุณภาพของเนื้อไม้ชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำมันภายในเซลล์ต่าง ๆ ของเนื้อไม้ เช่นเดียวกัน


เนื้อไม้กฤษณารูปไม้กฤษณา


3.น้ำมันกฤษณา องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณาจะประกอบไปด้วยสารที่เป็นยางเหนียวหรือเรซิน (Resin) อยู่มาก ส่วนสารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด คือ Agarospirol, -Agarofuran, Agaro และ Dihydroagarofuran


น้ํามันกฤษณาน้ำมันกฤษณา


4.ใบกฤษณา มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี มีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม ส่วนโคนใบมน ใบเป็นสีเขียว ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบและเกลี้ยง มีขนขึ้นประปรายอยู่ตามเส้นใบด้านล่าง ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร
ใบกฤษณา
5.ดอกกฤษณา ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ดอกมีสีเขียวอมสีเหลือง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ติดทน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้อยู่ 10 ก้าน


ดอกต้นกฤษณาดอกกฤษณา


6.ผลกฤษณา ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี ผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีเส้นแคบตามยาวของผล ผิวของผลมีลักษณะขรุขระเป็นลายสีเขียว และมีขนละเอียดสั้น ๆ คล้ายกำมะหยี่ขึ้น ผลเมื่อแก่จะแตกและอ้าออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด มีสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะกลมรี ขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีหางเมล็ดสีส้มหรือสีแดง ปกคลุมไปด้วยขนสั้นนิ่มสีแดงอมน้ำตาล โดยผลจะเริ่มแก่และแตกอ้าออกในช่วงเดือนสิงหาคม

ผลกฤษณา
ลูกกฤษณา

คุณภาพของไม้กฤษณา

ชาวบ้านอาจเรียกชื่อของไม้กฤษณาแตกต่างกันออกไปได้ตามคุณภาพของไม้หอม เช่น “ไม้ลูกแก่น” (เกิดจากการเจาะไชของแมลงจนเกิดเป็นแก่นไม้เนื้อแข็งสีดำเป็นมัน) จัดเป็นไม้หอมชั้นยอดและมีราคาแพงมาก ส่วนไม้หอมที่มีราคาสูงรองลงมาก็คือ “ไม้พุดซ้อน” (เกิดจากแมลงเจาะไชราก), “ไม้ลำเสา” (เกิดจากแมลงเจาะไชยอดถึงโคนต้น), “ไม้มะเฟือง” (เกิดจากแมลงเจาะไชขวางลำต้น), “ไม้เสี้ยนตาล” (มีเสี้ยนสีดำกับสีขาวผสมกันอยู่) ชนิดนี้ก็มีราคาสูงเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกว่าตามลักษณะการเกิดอีกด้วย เช่น “ไม้ปากกระโถน” (เกิดจากเซลล์ของปุ่มไม้ตามลำต้นซึ่งเสื่อมสภาพกลายเป็นแอ่งขังน้ำฝน), “ไม้ปากขวาง” (เกิดจากการใช้ขวานฟันแล้วทิ้งแผลไว้ 3 ปี จนมีสีเข้มมากรอบรอยฟัน หากทิ้งไว้นานถึง 100 ปี จะมีสีดำสนิทและถือเป็นไม้เกรดหนึ่ง), “ไม้ขนาบน้ำ” (เกิดจากการฉีกขาดของง่ามไม้)
ไม้กฤษณา ชนิดที่ดีที่สุดในโลก คือ “กฤษณาจากบ้านนา” (Agillah Bannah) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครนายก และพบมากในเขตกัมพูชา แต่ในปัจจุบันกฤษณาที่มีคุณภาพดีที่สุดจะได้จากเขาใหญ่
ส่วนไม้กฤษณาที่คุณภาพต่ำ ได้แก่ “ไม้ตกหิน” (เนื้อเหลืองอ่อนคล้ายไม้ผุ), “ไม้ตกตะเคียน” (เนื้อเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลใต้รอยฟัน หากทิ้งไว้ประมาณ 6-7 เดือน จะมีสีเหมือนไม้ตะเคียน), “ไม้กระทิด” (ลักษณะเหมือนไม้ตกตะเคียน แต่สีของไม้จะเหมือนไม้กระทิด), “ไม้ตกฟาก” (ถูกไม้อื่นล้มทับจนเกิดแผลภายนอก) เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้สามารถนำไปต้มกลั่นทำเป็นน้ำหอมได้
กฤษณา

สรรพคุณของกฤษณา

  1. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (เนื้อไม้)
  2. ช่วยบำรุงกำลัง (เนื้อไม้)
  3. ไม้ลูกแก่น เมื่อนำมาใช้เผาจนเกิดกลิ่นหอม ใช้สูดดมจะช่วยทำให้เกิดกำลังวังชา (ไม้ลูกแก่น)
  4. ช่วยบำรุงธาตุ คุมธาตุในร่างกาย (เนื้อไม้)
  5. ช่วยบำรุงโลหิต (เนื้อไม้)
  6. เนื้อไม้มีรสขม หอม ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (อาการหน้าเขียวตาเขียว) (เนื้อไม้, น้ํามันกฤษณา) บำรุงโลหิตในหัวใจ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  7. ช่วยบำรุงสมอง ใช้ระงับอารมณ์โมโหดุร้าย ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้มีอารมณ์สุนทรีย์ (ชิ้นไม้)
  8. ใช้รับประทานช่วยทำให้หัวใจชุ่มชื่น (เนื้อไม้)
  9. น้ำจากใบสามารถนำมาใช้เพื่อรักษาโรคเบาหวานได้ (ใบ)
  10. ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ (ตำรายาจีน)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ต้นงิ้ว

ต้นพวงคราม